วันจันทร์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2557

4 โจทย์ใหญ่ปฏิรูปการศึกษาไทยทำเชื่อมโยง’ทักษะผู้เรียน

นายพลสัณฑ์ โพธิ์ศรีทอง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการคุรุสภา เปิดเผยว่าการปฏิรูปการศึกษาที่กำลังดำเนินการอยู่ในช่วง 4-5 ปีมานี้ จะเห็นว่าทุกฝ่ายมุ่งไปที่การปฏิรูปครูเป็นลำดับแรก ทั้งที่ความจริงแล้วการปฏิรูปการศึกษาต้องยึดโยงที่ตัวเด็กเป็นสำคัญ เพราะเด็กคือเป้าหมายที่สะท้อนคุณภาพการศึกษาทั้งหมด ดังนั้น การพัฒนาการศึกษาไม่ว่าด้านใดก็ตาม ต้องกำหนดให้การพัฒนาเด็กมาเป็นตัวชี้วัด ซึ่งเป็นหลักการที่ใช้กันทั่วโลก แต่การปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)เพื่อแก้ไขปัญหาคุณภาพการศึกษา กลับเลือกใช้วิธีการแก้ไขปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนใหม่ ทั้งที่ พ.ร.บ.หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 เพิ่งใช้ได้ไม่กี่ปี และยังไม่ถูกนำไปใช้อย่างสมบูรณ์ก็โทษว่าการที่คุณภาพการศึกษาไม่ดีเพราะหลักสูตรไม่ดีฉะนั้น ตนจึงคิดว่าถึงเวลาที่เราต้องหันมาตั้งโจทย์เพื่อปฏิรูปการศึกษาไทยใหม่
          นายพลสัณฑ์ กล่าวต่อว่า สำหรับแนวทางการปฏิรูปการศึกษาใหม่ ต้องให้เด็กเป็นเป้าหมายสำคัญ ดังนี้ 1.กำหนดสมรรถนะด้านความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะของเด็กไทยที่ต้องการในอนาคต 10-20 ปี ซึ่งต้องกำหนดให้ชัดว่าคุณลักษณะที่คาดหวังของเด็กแต่ละช่วงชั้นมีอะไรบ้าง ซึ่งต้องกำหนดตั้งแต่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษาและอุดมศึกษา โดยเฉพาะเมื่อจบอาชีวะหรืออุดมศึกษาในแต่ละวิชาชีพนั้นควรมีสมรรถนะและคุณลักษณะแบบใด 2.พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน กำหนดกิจกรรมกระบวนการที่จะนำไปพัฒนาเด็กให้มีสมรรถนะและคุณลักษณะตามที่กำหนดกันไว้ ซึ่งการพัฒนาหลักสูตร ต้องร่วมกันพัฒนา ไม่จำกัดแค่ว่าต้องเป็นเฉพาะวงการศึกษา แต่ทำได้ทุกที่ทั้งที่บ้าน ชุมชนและสังคม เพียงแต่ต้องวางแผนเชื่อมโยงให้เกิดความร่วมมือ3.กำหนดสมรรถนะและคุณลักษณะของครูไทย และต้องนำไปใช้ทั้งการผลิตครูใหม่และพัฒนาครูประจำการให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงในโลกยุคโลกาภิวัตน์ และ 4.พัฒนาระบบการติดตามและประเมินผลในแต่ละด้านทั้งคุณภาพเด็ก คุณภาพหลักสูตร การพัฒนาครู กระบวนการผลิตครูและระบบการศึกษาคุณภาพการศึกษา มาตรฐานการศึกษาและมาตรฐานวิชาชีพ ซึ่งให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมาร่วมประเมิน อาทิ สำนักงานคณะกรรมการ ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) สถาบันพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา (สคบศ.) พ่อแม่ ผู้ปกครอง เป็นต้น ไม่ใช่ให้ผู้ผลิตครูหรือผู้ใช้ครูมาทำหน้าที่ประเมิน ทั้งนี้หากดำเนินการตาม4 แนวทางอย่างเชื่อมโยงเชื่อว่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในการปฏิรูป การศึกษาของไทย--จบ--
          ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ


กรุงเทพฯ--18 ส.ค.--ASTVผู้จัดการออนไลน์
          ศธ.สรุปปฏิรูป 7 ประเด็นหลังยกทีมถกร่วมที่ปรึกษา คสช.”ชัยพฤกษ์” ระบุข้อเสนอแยกอุดมฯ ทางที่ปรึกษา คสช.แนะให้เสนอต่อสภาปฏิรูปที่ดูแลภาพรวมประเทศโดยตรง เหตุกระทบต่อหลายฝ่าย
          วันนี้ (18 ส.ค.) นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (เลขาธิการ กอศ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ประชุมร่วมกับนายยงยุทธ ยุทธวงศ์ ที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อหารือถึงแนวทางการจัดการศึกษาอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา ซึ่งคณะที่ปรึกษา คสช.ได้ให้ความเห็นหลายประเด็นเกี่ยวกับการจัดการศึกษาและมอบหมายให้ ศธ.ไปจัดทำประเด็นเสนอมา เพราะฉะนั้น ศธ.จึงได้จัดทำข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปการศึกษาเพื่อเสนอต่อที่ปรึกษา คสช.และได้นำข้อเสนอดังกล่าวเข้าหารือในที่ประชุมผู้บริหารองค์กรหลัก ศธ. เมื่อช่วงเช้าวันนี้ ซึ่งข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปการศึกษามีทั้งหมด 7 ประเด็น ดังนี้ ประเด็นที่ 1 เสนอให้เพิ่มการอุดหนุนรายหัวแก่นักเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยนักเรียนสายสามัญในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) จะเสนอให้มีการเพิ่มอัตราเงินรายหัวให้เหมาะสมตามภาวะเศรษฐกิจ ส่วนนักเรียนสายอาชีพ อาชีวศึกษาเสนอให้จัดค่าอุปกรณ์การเรียนตามความจำเป็นในทุกสาขาและให้ดูแลเด็กกลุ่มที่มีความต้องการพิเศษ โดยเฉพาะเด็กยากจนและเด็กพิการ
          ประเด็นที่ 2 ให้แก้ไขปัญหาการขาดแคลนครูและบุคลากรอาชีวศึกษา โดยเปิดช่องให้ผู้มีทักษะอาชีพมาเป็นครูอาชีวศึกษาโดยง่าย มีระบบที่ยืดหยุ่นในการสมัคร การมีใบอนุญาตประกอบการสอนและใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ รวมถึงให้เพิ่มกรอบอัตรากำลังข้าราชการและพนักงานราชการเพื่อทำหน้าที่สอนและสนับสนุน หรืออาจใช้วิธีตัดโอนพนักงานราชการมาเป็นข้าราชการครู โดยให้อัตราตามตัว หรือขอคืนอัตราเกษียณ 100% โดยทันทีเพื่อนำมาบรรจุรับราชการครู ประเด็นที่ 3 ให้มีการปรับปรุงอัตราตำแหน่งผู้บริหารระดับต้นและระดับสูงของแต่ละองค์กรหลักให้เหมาะสม ประเด็นที่ 4 พัฒนากำลังแรงงานตามความจำเป็นเร่งด่วนของประเทศ โดยพัฒนากำลังแรงงานสำหรับการลงทุนขนาดใหญ่ให้ทันกับความต้องการ ส่งเสริมการเป็นผู้ประกอบการโดยสนับสนุนเงินทุนและระบบช่วยเหลือทางวิชาการ อบรมเพิ่มทักษะฝีมือให้แรงงานในสถานประกอบการ อบรมอาชีพที่สองให้ผู้มีความจำเป็นเร่งด่วน เช่น เกษตรกร ผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ผู้สูงอายุ และผู้พิการ
          นายชัยพฤกษ์ กล่าวต่อว่า ประเด็นที่ 5 พัฒนาให้มีวิทยาลัยเฉพาะทางในทุกสาขาอาชีพกระจายทุกภูมิภาคประเด็นที่ 6 สร้างค่านิยมอาชีวศึกษา เพื่อให้คนหันมาเรียนสายอาชีพเพิ่มมากขึ้น และประเด็นที่ 7 จัดระบบการประสานงานการจัดอาชีวศึกษาของทุกหน่วยงาน เพราะปัจจุบันมีหลายหน่วยงานจัดการศึกษาสายอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา วิทยาลัยชุมชน สช. และการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) จึงควรต้องประสานงานเพื่อป้องกันการซ้ำซ้อน
          “ในการประชุมร่วมกับที่ปรึกษา คสช.ที่ประชุมเมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา ได้มีการพูดถึงข้อเสนอให้แยกสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ออกจาก ศธ.ด้วย แต่ที่ปรึกษา คสช.เห็นว่าเรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อหลายฝ่าย จึงต้องการให้สภาปฏิรูปที่ดูแลนโยบายของประเทศในภาพรวมได้เป็นผู้พิจารณาเรื่องนี้เอง ทั้งนี้ พรุ่งนี้ผมจะส่งประเด็นข้อเสนอในการปฏิรูปการศึกษาส่งให้ นางสุทธศรี วงษ์สมาน ปลัด ศธ.ในฐานะปฏิบัติหน้าที่ รมว.ศึกษาธิการ เพื่อนำเสนอต่อ คสช.เป็นข้อเสนอ”นายชัยพฤกษ์ กล่าว


ศธ.ลดสัดส่วนรับ ม.1 ในพื้นที่เหลือ 40% ให้อำนาจโรงเรียนวางเกณฑ์คัดเลือกเอง
          นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กพฐ.เห็นชอบแนวปฏิบัติในการรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ของโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)ประจำปีการศึกษา 2558 โดยลดสัดส่วนในการรับนักเรียนในเขตพื้นที่บริการลง10% จากที่เคยกำหนดให้โรงเรียนรับนักเรียนในพื้นที่บริการไม่ต่ำกว่า50%
          นอกจากนี้ ยังให้อำนาจโรงเรียนในการพิจารณาว่าจะใช้วิธีใดคัดเลือกนักเรียนในพื้นที่บริการ โดยอาจใช้วิธีสอบคัดเลือก รับทั้งหมดหรือจับสลากทั้งหมด และอาจใช้วิธีสอบคัดเลือกผสมผสานกับการจับสลาก
          ทั้งนี้ หากมีนักเรียนในพื้นที่บริการมาสมัครไม่เต็มโควตาโรงเรียนสามารถใช้ที่นั่งที่เหลือไปรับนักเรียนนอกพื้นที่บริการได้ โดยการรับนักเรียนนอกพื้นที่บริการนั้น ให้ใช้วิธีการสอบคัดเลือกและพิจารณาจากคะแนนการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ โอ-เน็ต 20%
          นายประวิต เอราวรรณ์ ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยระบบการศึกษากล่าวว่า การปรับลดดังกล่าวอาจจะทำให้โรงเรียนบางแห่ง โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดใหญ่ มีนักเรียนนอกเขตบริการเพิ่มขึ้นอีก 1 ห้อง อาจจะกระทบกับจำนวนเด็กในโรงเรียนขนาดเล็กตามมา
          นอกจากนั้น ยังถือว่าเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กนอกพื้นที่บริการเพิ่มขึ้น จะทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบกับนักเรียนจำนวนหนึ่ง
          นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เกณฑ์การรับดังกล่าวอาจจะส่งผลกระทบต่อเด็กและผู้ปกครองที่วางแผนการเข้าเรียนต่อในโรงเรียนใกล้บ้านไว้แล้วโดยเฉพาะกลุ่มที่มีฐานะยากจน หากไม่สามารถเข้าเรียนในสถานศึกษาใกล้บ้านได้ ก็จะประสบปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายในการเรียนตามมา
          ขณะเดียวกัน สพฐ.ต้องหามาตรการที่ทำให้ผู้ปกครองและนักเรียนมีความมั่นใจว่า เกณฑ์ในการคัดเลือกมีความโปร่งใสและตรวจสอบได้--จบ--
          ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

ไม่มีความคิดเห็น: