วันอังคารที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

เตรียมสอบใหม่!

24 ก.พ. 58 นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ได้จัดสอบคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา และรองผู้อำนวยการสถานศึกษา โดยจัดสอบ ภาค ก.และภาค ข.ไปเมื่อวันที่ 14-15 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยใช้ข้อสอบจากส่วนกลาง  ผลปรากฎว่า มีผู้สอบผ่านไม่ครบตามจำนวนที่เปิดรับ
            
นายกมล กล่าวต่อว่า ตำแหน่งรองผอ.สถานศึกษาซึ่งเปิดรับ จำนวน 1,353 ตำแหน่ง มีผู้มีสิทธิ์เข้ารับการคัดเลือก 6,129 ราย ผ่านการสอบภาค ก. จำนวน 1,518 ราย  ส่วนตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษานั้น  เปิดรับ จำนวน 2,904 ตำแหน่ง มีผู้มีสิทธิ์เข้ารับการคัดเลือก 15,834 ราย  สอบภาค ก.ผ่านเพียง 2,299 ราย ดังนั้นจึงยังขาดอีกถึง 605 ตำแหน่ง  รวมทั้งหมดแล้ว มีผู้สอบผ่านภาค ก. 3,817 ราย คิดเป็นร้อยละ 17.38 จากจำนวนผู้มีสิทธิ์เข้ารับการคัดเลือก 21,963 ราย  
               
“สพฐ.ตั้งเป้าไว้ว่า จะมีผู้ผ่านการคัดเลือก ร้อยละ 20  แต่ได้แค่นี้ก็ถือว่าน่าพอใจ  ส่วนที่เหลือก็จะมีการเปิดสอบใหม่ อาจจะเป็นช่วงเดือน ก.ค.ถึง ก.ย.นี้   ทั้งนี้ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จำนวน 42 แห่ง ได้ประกาศขึ้นบัญชีรายชื่อและเตรียมบรรจุแล้ว ส่วนที่เหลือจะทยอยประกาศต่อไป  ซึ่งผู้ที่ได้ขึ้นบัญชีน่าจะได้รับการบรรจุครบทุกคนเพราะบัญชีมีอายุถึง 2 ปี" เลขาธิการ กพฐ. กล่าว
            
นายกมล กล่าวอีกว่า  นอกจากนี้ สพฐ.ยังเตรียมสอบคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีมีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษ (ว 16, ว 17 ) ใน 225 เขตพื้นที่การศึกษา และสำนักงานบริหารงานการศึกษาพิเศษ แยกเป็นกลุ่มวิชา จำนวน 66 กลุ่ม  ซึ่งได้เปิดรับสมัครมาตั้งแต่ 16 ก.พ.ถึง 22 ก.พ. นี้. ขณะนี้มีผู้สมัครแล้วทั้งสิ้น 26,684 ราย และจะมีการจะจัดสอบภาค ก.และ ข.ในวันที่ 28 ก.พ.ถึง 1 มี.ค. นี้
          
“การสอบครั้งนี้เป็นกรณีพิเศษ ไม่ได้เปิดสอบทั่วไปแต่เปิดให้ลูกจ้างประจำของแต่ละเขตพื้นที่มาสอบบรรจุเป็นครูผู้ช่วย โดยทางคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ได้มีมติให้เขตพื้นที่ เป็นผู้จัดสอบและออกข้อสอบเอง ตั้งแต่ข้อสอบภาค ก. ภาค ข.และภาค ค.หรือการสอบสัมภาษณ์  แต่ สพฐ. จะลงไปกำกับดูแลอย่างเข้มข้น โดยส่งคนลงไปกำกับดูแลในทุกเขตพื้นที่ฯ  และมีมาตรการป้องกันการทุจริตต่าง ๆ  อาทิเช่น  มีการให้ตำรวจชาย-หญิง ตรวจร่างกายผู้เข้าสอบก่อนเข้าห้องสอบ หรือให้พิมพลายนิ้วมือ เพื่อตรวจสอบว่ามีการปลอมตัวเข้าสอบแทนหรือไม่" นายกมล กล่าว  
          
นายกมล กล่าวด้วยว่า สำหรับเขตพื้นที่การศึกษา ที่มีผู้สมัครมากที่สุด 5  อันดับ ได้แก่  สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 33 (จ.สุรินทร์ ) สมัคร 502 คน, สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) สงขลา เขต 3 , สพป.ยะลา เขต 1 สมัคร 464 คน , สพม.เขต 2 (กรุงเทพ ) สมัคร 445 คน , สพป.สมุทรปราการ เขต 1 สมัคร 395 คน และ สพป.เชียงใหม่ เขต 3 สมัคร 388 คน  ส่วน สศศ.สมัคร 954 คน

ไม่มีความคิดเห็น: